UI และ UX Designer สองสาขาอาชีพมาแรงแห่งศตวรรษที่ 21

ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังนี้ เมื่อมีการสำรวจอาชีพใหม่ๆ หรือตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มาแรง เรามักจะได้ยินคำว่า UI และ UX Designer กันอยู่เสมอ  อาชีพนักออกแบบในสาขานี้นับเป็นหนึ่งอาชีพที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับแรกๆ  (จากสถิตตัวเลขในเว็บ LinkedIn ปี 2008 มีผู้ระบุว่าตนทำอาชีพนี้เป็นจำนวน 159 คน  ในขณะที่ปี 2016 มีจำนวนถีบตัวสูงขึ้นถึงราว 5 แสนคน - เพิ่มขึ้นร้อยกว่าเท่าในเวลาเพียงแปดปี  นอกจากนั้น ตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัคร UI และ UX Designer ในเว็บ Linkedin ก็มีสูงถึงราว 8 พันตำแหน่งเลยทีเดียว)
 
…บางคนอาจจะยังสงสัยว่า UI กับ UX นี้มันคืออะไร ? 
...แล้วอาชีพนักออกแบบ UI หรือ UX ต้องทำอะไรบ้าง ?  
…งานสองด้านนี้เหมือนหรือต่างกันแค่ไหนอย่างไร ?  

 

 



รู้จักนักออกแบบ UI

สำหรับ UI นั้น จริงๆ ก็คือตัวย่อของคำว่า ‘User Interface’ เป็นงานดีไซน์ที่เน้นหนักเรื่องการออกแบบ ‘หน้าจอ’  หรือแพลทฟอร์มต่างๆ ที่ธุรกิจทำไว้เพื่อติดต่อกับผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ แอพลิเคชั่น เกมส์ รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่จับต้องได้เช่นอุปกรณ์จอทัชสกรีน ฯลฯ   สำหรับเนื้องานของนักออกแบบ UI นั้นก็จะต้องปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เพื่อว่านักพัฒนาแอพฯ หรือโปรแกรมเมอร์ จะสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ทันที
  
ทักษะสำคัญของนักออกแบบ UI ไม่เพียงแต่จะต้องดีไซน์สิ่งที่สวยงามน่าใช้ แต่ยังต้องดูเป็นมิตร เข้าใจง่าย  (User-friendly) เช่น มีปุ่ม ไอคอน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่บ่งชี้ฟังก์ชั่นในตัวเอง มีภาษาภาพอันเป็นแนวทางมาตรฐานที่ผู้ใช้ในแต่ละยุคเข้าใจได้  ความท้าทายจึงอยู่ที่การออกแบบให้ลงตัวระหว่างความโดดเด่น มีบุคลิกแตกต่าง แต่ก็ต้องไม่ต่างจนเกินไป ลำบากถึงผู้ใช้ให้ต้องมาเรียนรู้ใหม่ด้วย

 


ฉะนั้นสำหรับ UI Designer นอกจากคุณจะมีไอเดียด้านการออกแบบอยู่ในหัว มีฝีมือในการรังสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา คุณยังต้องตามติดโลกและไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ให้ทันอยู่เสมอ เพื่อจะรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณนั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่คุณรับผิดชอบอยู่

 


 

เข้าใจนักออกแบบ UX

UX ย่อมาจากคำว่า ‘User Experience’  งานออกแบบด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการที่สินค้าหรือบริการหนึ่งๆ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้  โดยเน้นไปที่การนำสินค้าหรือบริการไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้เพื่อจะเก็บข้อมูลและ ‘ฟีดแบค’ อย่างละเอียดกลับมาพัฒนาตัวสินค้าหรือบริการต่อไป  การทดสอบเรื่อง UX นี้ควรทำทั้งก่อนและหลังเปิดตัวสินค้า  โดยครอบคลุมทั้งสินค้า/บริการดิจิตอล และสินค้า/บริการทั่วไปด้วย

 

ผลงานของ UX Designer มักออกมาในรูปของ ‘รายงานการทดสอบ’ สินค้าหรือบริการหนึ่งๆ  เกิดจากการสังเกต ติดตามผล และการวิเคราะห์ในแต่ละขั้น เพื่อจะตอบคำถามเช่นว่า ‘ใครใช้’  ‘ใช้ทำอะไร’  ‘ใช้อย่างไร’  หรือ ‘ใช้ในสภาพแวดล้อมไหน’ อย่างละเอียด  จากนั้นนักออกแบบ UX ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ มี ‘ฟังก์ชั่น’ หรือ ‘ฟีเจอร์’ อะไรบ้างที่สำคัญกับกลุ่มเป้าหมาย  นำไปสู่การปรับปรุงสินค้า/บริการให้ตรงใจ และแก้ปัญหาได้รวดเร็ซอย่างตรงจุด

 

 

หนึ่งในเนื้องานหลักที่ UX Designer ต้องทำก็คือ ‘Usability Testing’ ซึ่งคือการให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยตัวเอง แล้วถ่ายบันทึกเก็บไว้เพื่อนำมาพิจารณาว่ามีข้อติดขัดในส่วนไหนบ้าง โดยอาจจะสร้างตัวงานให้ทดลองใช้ 2 แบบ (A/B Testing) แล้วสังเกตว่าแบบไหนได้รับการตอบสนองที่ดีกว่ากัน  ในการทดสอบลักษณะนี้หากเป็นเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่น การตรวจวัดก็จะง่ายขึ้น เพราะนอกจากจะถ่ายวิดีโอกับกลุ่มตัวอย่างได้แล้ว เรายังสามารถเก็บข้อมูลจากผู้ใช้โดยตรงด้วยระบบ Analytics (เช่น Google Analytics) ซึ่งจะรายงานยอดผู้เข้าชมแยกตามเพจต่างๆ พร้อมระบุเวลาการใช้ พฤติกรรมการคลิก ฯลฯ ได้อย่างละเอียด


สรุปปิดท้าย

งานของนักออกแบบ UI เน้นที่การดีไซน์ การวาด และการสร้างสัญลักษณ์ เพื่อจะปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า   ส่วนงานของนักออกแบบ UX จะอาศัยทั้งการออกแบบ ทดสอบ สังเกต ติดตามผล วัดผล สรุปผล ฉะนั้นทั้งสองอาชีพนี้จึงมีเนื้องานแตกต่างกัน แต่ก็จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
  
ในบางบริษัทอาจจะรวบงานทั้งสองด้านนี้มาเป็นตำแหน่งเดียวกัน (คือเป็น UI/UX Designer) แต่ขอบเขตของงานก็จะเหนื่อยยากขึ้นหลายเท่า
 
ในโลกยุคนี้ไม่เพียงแต่จะมีแอพฯ หรือเว็บใหม่ๆ ออกมามากมาย แต่ยังมีสื่อสมัยใหม่เช่นแว่น VR, อุปกรณ์ IOT อย่างเช่นกลอนประตูอัจฉริยะ กระถางต้นไม้อัจฉริยะ ฯลฯ ที่แน่นอนว่าก็ต้องพึ่งพาการทำงานของนักออกแบบ UI และ UX  อีกมาก  จึงรับประกันได้ว่าทั้งสองอาชีพยังคงมีอนาคตสดใส ตลาดแรงงานจะยังขยายตัวอีกมหาศาล  เป็นศาสตร์สำคัญที่นักออกแบบรุ่นใหม่ควรศึกษาไว้บ้างไม่มากก็น้อย

 

ที่มา: TCDC